มีตำนานพื้นบ้านเล่าสืบกันมานมนานว่า สมัยก่อนภูเรือ เป็นเมืองที่ชาวบ้านเรียกกันว่าภูทุ่ง เจ้าเมืองภูทุ่งมีเจ้าเมืองภูครั่งเป็นพระสหายสนิท เจ้าเมืองภูทุ่งมีโอรส ในขณะที่เจ้าเมืองภูครั่งมีธิดา ต่างฝ่ายต่างก็อยากเป็นทองแผ่นเดียวกัน แต่ธิดาเมืองภูครั่งนั้นมีคนรักอยู่แล้ว เมื่อโอรสเจ้าเมืองภูทุ่งจัดขันหมากมาสู่ขอ นางจึงลอบหนีไป โอรสเจ้าเมืองภูทุ่งจึงทำลายขันหมาก ทิ้งให้กลายเป็นหินเรียงรายอยู่ที่ “ทุ่งหินพานขันหมาก” และได้สร้าง “หินศิวลึงค์” ไว้ให้คนเคารพบูชา พร้อมกับสร้าง “หินเต่า” เพื่อประชด ตัวเอง สำหรับชื่อ “ภูเรือ” มาจากลักษณะของภูเขาซึ่งมีชะโงกผายื่นออกมาคล้ายเรือสำเภาขนาดใหญ่ โดยที่ราบบนเขามีลักษณะคล้ายท้องเรือ
จากประวัติกล่าวว่า คำว่า ภูเรือ ตั้งชื่อตามภูเขาชื่อเดิมเรียกว่า “ ภูทุ่ง “ หากมองจากอำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย จะมีลักษณะเหมือนเรือแล่นอยู่ในมหาสมุทร จึงเรียกว่า “ภูเรือ” แต่อีกนัยหนึ่งเล่ากันว่า สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มีเครื่องบิน มาตกที่บริเวณภูทุ่งจึงได้เรียกกันว่า “ ภูเรือ ” ก่อนที่จะเป็นอำเภอภูเรือ เดิมเป็นพื้นที่เขตการปกครองของสามอำเภอ คือ อำเภอเมืองเลย อำเภอด่านซ้าย อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย เมื่อ พ.ศ. 2511 กระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาเห็นว่า เขตการปกครองของอำเภอเมืองเลย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย มีพื้นที่กว้างขวางมากซึ่งเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการปกครอง ดูแลทุกข์สุขของราษฎรได้ทั่วถึงจึงได้แยกตำบลท่าศาลา อำเภอเมืองเลย ตำบลหนองบัว ตำบลร่องจิก ตำบลปลาบ่า อำเภอด่านซ้ายรวม 4 ตำบล เข้าเป็นเขตการปกครองเดียวกัน โดยประกาศตั้งเป็นกิ่งอำเภอภูเรือ ขึ้นกับเขตการปกครองของอำเภอด่านซ้าย เมื่อ พ.ศ. 2511 และได้ประกาศยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 28 มีนาคม 2517ปัจจุบันอำเภอภูเรือ แบ่งเขตการปกครองท้องที่เป็น 6 ตำบล 47หมู่บ้าน คำขวัญประจำอำเภอ “ เมืองแห่งทะเลภูเขา สุดหนาวในสยาม ดอกไม้งามสามฤดู ”ต้นไม้ประจำอำเภอคือ ต้นสนสินค้าประจำอำเภอได้แก่ ข้าวโพดตักหงาย, ขิง, กระชายดำแปรรูป,น้ำเฟรชชั่นฟรุต(กระทกรก), ไวน์มะขามป้อม, ไวน์กระชายดำ, ไวน์ชาโต้เดอเลย และขนมนางเล็ดสินค้าประจำตำบล (หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์)
1. ตำบลหนองบัว คือ น้ำเฟรชชั่นฟรุต ( กระทกรก ) ไวน์มะขามป้อม
2. ตำบลสานตม คือ ไวน์กระชายดำ
3. ตำบลร่องจิก คือ ไวน์ชาโต้เดอะเลย
4. ตำบลปลาบ่า คือ ขนมนางเล็ด
5. ตำบลลาดค่าง คือ กระชายดำแปรรูป
6. ตำบลท่าศาลา คือ ขนมนางเล็ดระยะทางจากอำเภอไปจังหวัดเลยระยะทางประมาณ 50กิโลเมตร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 203